ทีมเดนตาย
ประมาณ 8 โมงเช้า หลังจากที่ ทุกคน เสร็จสรรพจาก กาแฟและอาหารเช้ากันแล้ว กัปตันไก่ ง่วนกับการติดต่อไปทางภูเก็ต เรื่องการโอนเงิน ค่าโสหุ้ย (ค่าน้ำมัน ค่าเสบียงอาหาร) มาให้ ไว้สำรองใช้จ่าย ระหว่างการเดินทางผ่าน ประเทศ มาเลเซีย สิงค์โป
ได้รับคำตอบกลับมาว่า คนเซ็น อนุมัติ การเบิกจ่าย ไม่อยู่ จะเข้ามาบริษัท ตอนบ่ายๆ กัปตันไก่ บ่นพึมอย่างหัวเสีย แน่นอน ความล่าช้าจากสาเหตุอะไรก็ตาม เวลาของการเดินทาง ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นหลายวัน แต่ราคาค่าจ้าง ยังเท่าเดิม เขาย่อมเสียประโยชน์
แต่จำเป็นต้องรอ เพราะเงินบาทแลกเป็นเงิน ริงค์กิต ในประเทศไทย จะได้ราคาสูงกว่า แลกในประเทศ มาเลเซีย ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไม? อัตราการแลกเปลี่ยน จึงเป็นแบบนี้
กัปตันไก่ พูดกับทุกคนว่า “อนุญาตให้ใคร ไปทำอะไร ที่ไหนก็ได้ แต่ให้กลับมาถึงเรือก่อนบ่ายโมง” เป็นที่เข้าใจกันทุกคน และจะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด
สายหน่อยฝนซาเม็ด แต่ฟ้ายังครึ้ม บังใจกับคุณบันเทิง ชวนกันขึ้นบกไปก่อน กัปตันไก่, บังหมานกับยุทธ อยู่เรือ ส่วนผม ตั้งใจจะเข้าไปตัวเมืองสงขลา เพื่อหาซื้อหนังสือ ไว้อ่านฆ่าเวลา ช่วงที่เรือแล่นอยู่ในทะเล
หลังจากที่ บังใจกับคุณบันเทิง ขึ้นจากเรือไปประมาณครึ่งชั่วโมง ผมก็ขึ้นจากเรือ มาเดินเกร่ มองหามอเตอร์ไซ รับจ้างแถวท่าเรือ สูบบุหรี่หมดไปมวน ไม่มีผ่านมา สักคัน มองหารถโดยสารประจำทางก็ไม่มี
ท่าเทียบเรือสงขลา จะอยู่ลึกเข้ามาพอสมควร ไม่ได้เป็นย่านชุมนุมชน จึงค่อนข้างจะหารถยาก ผมเดินเล่นไปเรื่อยๆ กะว่าคงจะมีคุณเสื้อกั๊กผ่านมาบ้าง
ผมเดินจนมองเห็นตัวตลาดสงขลา ก็ยังไม่มีรถที่คิดว่าพอจะโดยสารได้ผ่านมาสักคัน จนกระทั่งผมเดินถึงตัวตลาด ใช้เวลาร่วมครึ่งชั่วโมง เล่นเอาเหงื่อซึมไปเหมือนกัน
ตัวเมืองสงขลาในอดีตเคยเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติม ดูๆ แล้วก็เหมือนจังหวัดชายทะเลเล็กๆทั่วไปในประเทศไทย
ศูนย์กลางธุรกิจและการค้าต่างๆ รวมอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรูๆ ศูนย์การค้าใหญ่ๆ สถานบันเทิง โรงนวด คาราโอเกะ การค้าผู้หญิง การค้าแรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว แหล่งฟอกเงินและทุกอย่างที่เมืองใหญ่ๆเขามีกัน อำเภอหาดใหญ่จึงมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย,สิงค์โป เอาเงินมาทิ้งปีละหลายพันล้านบาท การพัฒนาทุกอย่างจึงไปกองอยู่ที่นั่น รวมทั้งสนามบิน
ผมเดินเกร่ดูอะไรเรื่อยเปื่อย อยู่ในย่านการค้าสงขลา จนเที่ยงเศษ แวะเข้าร้านหนังสือ เลือกได้ ต่วยตูน ฉบับพิเศษกับมติชนสุดสัปดาห์ มาอย่างละเล่ม จึงออกเดินมาที่วินฯ เรียกคุณพี่เสื้อกั๊กสีแดง คันหนึ่ง เพื่อให้ไปส่งที่ท่าเรือ สอบถามราคา คุณพี่แกบอก 50 บาท ผมตอบตกลง โดยไม่กล้าต่อรอง แล้วคุณพี่แกก็พาผมลัดเลาะ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไม่ถึงสิบนาที ถึงท่าเรือ
เมื่อผมมาถึงเรือ กัปตันไก่ ขึ้นบกไปก่อนแล้ว บ่ายโมงเศษ คุณบันเทิงกับบังใจ มาถึง หอบข้าวของ พะรุงพะรังหลายอย่าง บอกว่าซื้อจากหาดใหญ่ ไปฝากภูเก็ต(เออ.คิดได้ยังไง) และเมื่อพวกเราลูกเรือ พร้อมหน้ากันแล้ว ก็ตกลงกันว่า จะกินข้าวเที่ยงกันก่อน โดยไม่รอ กัปตันไก่
บ่าย 2 โมงเศษ กัปตันไก่ มาถึงเรือด้วยสีหน้าดีขึ้น และบอกให้พวกเราเตรียมตัวออกเรือ พวกเราทุกคนเข้าประจำตำแหน่ง ตามหน้าที่ อย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มเบื่อท่าเรือสงขลาเต็มที มันไม่มีอะไรให้บันเทิงเริงใจเลย
บังหมาน พูดขึ้น “ไปมาเลย์ฯดีกว่า” ก่อนลงห้องเครื่อง สตาร์ทเครื่องยนต์กระหึ่มขึ้น
บังใจ เตรียมปลดเชือกหัว คุณบันเทิง เชือกท้าย ยุทธ ดูกราบขวา ส่วนผม เตรียมยก ลูกยางกันกระแทกข้างแคมเรือด้านซ้าย
กัปตันไก่ เข้าตำแหน่ง ตั้งเครื่อง GPSกับเข็มทิศเดินเรือ
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย กัปตันไก่ สั่งปลดเชือก แล้วเร่งเครื่องยนต์เดินหน้า เบนหัวเรือตีวงเลี้ยวขวาออกสู่ปากร่องน้ำ
ผ่านโป๊ะดักปลา ที่เกือบจะชนเอาเมื่อวานนี้(ผมมองแล้วยังรู้สึกเสียวไม่หาย) ผ่านท่าเรือ เฟอร์รี่ ที่วิ่งระหว่าง สงขลากับหัวเขาแดง ซึ่งยังได้รับความนิยมการใช้บริการ จากผู้เดินทางสัญจร ไป มา ทั้งรถเล็ก รถใหญ่อย่างคับคั่ง แม้จะมีสะพาน เปรม ติณสูลานนท์ ที่สร้างข้ามทะเลสาบ สงขลา ผ่านทางเกาะยอ มาหลายปีแล้วก็ตาม
ผ่านท่าเทียบเรือสินค้าสงขลา ที่มีเรือน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้าต่างๆ ทิ้งสมอ รอคิวเทียบท่า อยู่หลายลำ ตรงดิ่งมุงหน้าออกสู่ปากอ่าวสงขลา ผ่าน เกาะหนู เกาะแมว
เกาะหนู เกาะแมว
ผ่านแหลมสมิหลาทีมีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา แล้วเริ่มหันหัวเรือลงใต้ตั้งเข็ม พล๊อตแรกไปยัง รัฐ โกตาบารู(Kota Bharu) ประเทศมาเลเซีย ขณะที่ฟ้ายังฉ่ำฝน
กัปตันไก่ พล็อตเข็มลงใต้เฉียงไปทางตะวันออก ตามรูปแผนที่แหลมมาลายู โดยวางเส้นทางการเดินเรือ ห่างจากฝั่งประมาณ 15 ไมล์ทะเล ซึ่งเมื่อออกมาถึงจุดที่ตั้งเข็มแล้ว หากมองจากเรือไปทางทิศตะวันตก ก็จะเห็นแนวสีเทารางๆ ของภูเขาเท่านั้น
พล็อตเข็มนี้จะผ่าน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จุดหมายแรกคือนอกชายฝั่งรัฐโกตาบารู(Kota Bharu) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีเขตติดต่อกับ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีแม่น้ำตากใบเป็นเส้นแบ่งเขตแดน
นอกชายฝั่งออกมาไกลๆ คลื่นหยาบขึ้น กัปตันไก่ แล่นด้วยเครื่องยนต์ เต็มสปีด (ด้วยความเร็ว 5 น๊อต) แต่เมื่อเจอคลื่นลูกใหญ่ๆ ซ้อนมาครั้งล่ะหลายระลอก ทำเอาเรือหยุดอยู่กับที่เดินหน้าไม่ได้เหมือนกัน บางครั้งรู้สึกว่าเรือจะถอยหลังกรูดๆเสียด้วยซ้ำ นี่ว่าขนาดเบาะๆ ถ้าเจอเข้าจังๆ คงต้องเดินหน้า 2 ถอยหลัง 3 แน่ๆ เฮ้อ.....ปีหน้าจะถึงภูเก็ตหรือเปล่า ยังสงสัย?
จนเกือบค่ำ ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เราเพิ่งจะเข้าเขต จ.ปัตตานี และเมื่อเราเสร็จจากอาหารเย็นของวันนี้ ฟ้าก็มืดพอดี เริ่มมองเห็นแสงไฟระยิบระยับ จากเรือปั่นไฟ ไกลออกไปทางทิศตะวันออก
เรือปั่นไฟพวกนั้น(วงการเรือประมงเรียกเรือไดร์) เป็นเรือจับปลาของพี่ไทยเรานี่แหละ แต่ลูกเรือจะเป็นคนพม่า(บางลำไต๋เป็นคนพม่าก็มี) เป็นเรือที่ติดตั้งดวงไฟวัตต์สูงๆ คล้าย สปอร์ตไลท์ ห้อยระโยงระยาง ไว้รอบลำเรือ ลำหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 ดวง เพื่อล่อให้ฝูงปลาเข้ามาเล่นไฟ
เมื่อเห็นว่าฝูงปลาเข้ามาในรัศมีมากพอ ก็จะวิทยุเรียกให้เรือแม่ (เรือจับปลาที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเรืออวนล้อม) เข้ามาทำการใช้อวนล้อมจับเอาปลา แล้วนำเข้าฝั่งไป ส่วนเรือปั่นไฟก็จะยังอยู่ที่เดิมหรือย้ายไปหาตำแหน่งใหม่ที่มีฝูงปลาต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดคืนเดือนมืด จึงจะกลับเข้าฝั่ง รวมแล้วเดือนหนึ่ง ต้องอยู่กลางทะเลไม่ต่ำกว่า 15 หรือ 20 วัน สำหรับเสบียงอาหารและน้ำจืด รวมทั้ง วีซีดีหนังโป๊ะ จะมีเรือแม่จากฝั่งนำมาส่งให้
ส่วนน้ำมัน ก็จะไปเติมจากเรือที่เรียกว่า เรือน้ำมันเขียว อันเป็นนโยบายของรัฐที่จัดให้ ในราคาถูกกว่าบนบก(แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเถื่อน)ซึ่งจะอยู่ด้านนอกห่างจากฝั่งออกไปอีก
อาชีพการจับปลาทะเล นับเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความทรหดอดทนเป็นอย่างสูงอาชีพหนึ่ง แต่ไม่มีใครพูดถึงบ่อยนัก นอกจากว่าเมื่อเรือโดนพายุพัดจมลงหรือถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศเพื่อนบ้านจับตัวไป แล้วโชคดีรอดกลับมาได้ นั่นแหละถึงจะมีข่าว มีคราว ให้ได้ รู้ได้เห็นกันบ้าง
ยิ่งดึก ก็ยิ่งเห็นแสงไฟจากเรือปั่น หนาแน่นมากขึ้น เพราะเข้าใกล้เขตน่านน้ำมาเลเซียเข้าไปทุกที ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีปลาชุกชุม และพวกที่ลักลอบเข้าไปจับในเขตประเทศเพื่อนบ้านก็โดนจับไปบ่อยๆเหมือนกัน
ผมหลับไปตอนไหน ก็จำไม่ได้ จนตีสี่ ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา รับเวรถือท้ายเรือ จนถึง 6 โมงเช้า
21 กันยายน 2551 เข้าเขตรัฐ โกตาบารู
เช้าวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส ทัศน์วิสัยเจิดจ้า ทะเลเรียบ ลมพัดอ่อนๆ ไม่มีเค้าเมฆฝนหรือพายุให้เห็น เรือแล่นสบายๆ จะเดิน จะนั่งค่อยสบายตัวหน่อย ไม่ต้องโหน ไม่ต้องพยุง
เราเข้าเขตรัฐ โกตาบารู (Kota Bharu) ประเทศมาเลเซีย มาพอสมควร ทะเลย่านนี้ ไม่มีเรือประมง ไม่มีเรือบรรทุกสินค้า แล่นให้เห็น มองไปทางไหน เห็นแต่ทะเลเวิ้งว้าง ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจากเรือของเราเพียงลำเดียว และทำให้ผมเริ่มนึกถึงโจรสลัด
กัปตันไก่ เริ่มพล็อต เส้นทางใหม่ ตั้งเข็มไปที่ เกาะเรดัง (Redung) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งรัฐโกตาบารู ไปทางทิศตะวันออกพอสมควร
แผนที่ เกาะเรดัง
กัปตันไก่ บอกว่าถ้าสภาพอากาศแบบนี้ ความเร็วขนาดนี้ และไม่มีความผิดพลาดทางเทคนิคใดๆ เราจะถึง เกาะ เรดัง ประมาณบ่าย 3 หรือ 4 โมงเย็น ของวันนี้ และจะทิ้งสมอค้างคืนที่นั่น เพื่อพักเรือและพักคน
เรือแล่นฝ่าความเวิ้งว้างของทะเลมา จนกระทั่ง บ่าย 3 โมงเศษ เริ่มมองเห็นเกาะอยู่ทางซ้ายของหัวเรือ
กัปตันไก่ เข้าทำหน้าที่ถือท้ายแทน ยุทธ เพื่อนำเรือเข้าหาชายฝั่งของเกาะเล็กๆที่มองเห็นหาดทรายขาวอยู่ลิบๆ
อ่าวทางทิศเหนือของเกาะเรดัง
ประมาณ 20 นาที กัปตันไก่ นำเรือเข้าหา ทุ่นผูกเรือ (mooring) บังใจ จัดการผูกเชือกหัวเรือกับทุ่นเสร็จเรียบร้อย กัปตันไก่ ปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงาน อีกประมาณ 15 นาทีจึงบอกให้ บังหมาน ดับเครื่องได้
เป็นอันว่า เรามาถึง เกาะ เรดัง (Redung) ตามเวลาที่ กัปตันไก่ กำหนดไม่คลาดเคลื่อน(กว่า 24 ชั่วโมงจากสงขลา) ผมเก็บภาพมุมต่างๆ และสำรวจสภาพของเกาะไปในตัว
เกาะเรดัง (ตามข้อมูลที่ผมค้นหามาภายหลัง) ขนาดน้องๆเกาะสมุยของเรา มีโรงแรมและรีสอร์ทหรูมากเหมือนกัน มีสนามบิน ท่าเรือเฟอรี่ และสนามกอล์ฟ
ด้านที่เราจอดเรือ น่าจะเป็นทิศเหนือของเกาะ เท่าที่สายตาผมมองเห็น มี รีสอร์ทและโรงแรม อยู่บนชายหาดสัก 2-3 ที่ มีฝรั่งเข้าใจว่าเป็นนักท่องเที่ยว เดินเล่นอยู่หลายคน แต่ในทะเลริมหาด คงเล่นน้ำไม่ได้ เพราะมีโขดหินและแนวปะการัง ตลอดชายหาด
คุณบันเทิง ลงมือปฏิบัติการ เหวี่ยงเบ็ด ตกปลาทันที ปลากินเบ็ดดีมาก แต่เป็นปลาขี้ตังและปลาเก๋าตัวเล็กๆ เป็นเพราะน้ำไม่ลึกและปะการังมาก จึงไม่มีปลาใหญ่
คุณบันเทิงลงมือเหวี่ยงเบ็ดโดยมีบังหมาน นอนลุ้น
ขณะที่พวกเรา กำลังทอดอารมณ์และตกเบ็ดอยู่นั้น ได้มีเรือเล็กลำหนึ่ง แล่นออกจากฝั่งตรงมาที่เรือเรา มีเด็กหนุ่มๆอยู่ในเรือ 3 คน เรือลำนั้นแล่นวนสำรวจรอบเรือเรา หนึ่งรอบ แล้วชะลอเครื่อง ลอยลำอยู่ตรงหน้าบังใจ ที่กำลังตกปลา
หนึ่ง ใน 3 ตะโกนขึ้นมาเป็นภาษายาวี แล้วชี้ไปที่เบ็ดของคุณบันเทิง พร้อมกับทำมือทำไม้แบบว่าให้เอาเบ็ดขึ้น กัปตันไก่ มีความรู้ภาษายาวี พอสมควร พูดโต้ตอบ ไป สอง สาม ประโยค พวกนั้นจึงแล่นเรือกลับไป
กัปตันไก่ หันมาบอกกับพวกเราว่า “พวกนั้น มาบอกไม่ให้ตกปลา บริเวณนี้ เพราะเป็นเขตหวงห้าม ระวังจะโดนจับ”
แล้วบอกคุณบันเทิงกับบังใจ ให้เก็บเบ็ด และบอกทุกคนว่า “เตรียมออกเรือ จะย้ายไปอีกด้านของเกาะ”
เกือบซวยแล้ว มั๊ยล่ะ ยังไม่ทันถึงไหน จะติดคุกมาเลเซีย ซะแล้ว
เป็นที่รู้กันทั่วโลก ว่ากฎหมายมาเลเซีย บทลงโทษเขาเฉียบขาดขนาดไหน ยังนับว่าโชคดี ที่พวกนั้นมาเตือนเสียก่อน
เฮ้อ..เพิ่งจะเข้าเขตมาวันเดียวเฉี่ยวตะรางเข้าไปแล้ว ยังอีกยาวกว่าจะพ้นประเทศนี้ไปได้ ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร อีกบ้าง?
บังใจเก็บสายเบ็ด ขณะที่กัปตันไก่ บังคับเรือเพื่อไปอีกด้านของเกาะ
กัปตันไก่ ออกเรือวิ่งช้าๆ อ้อมไปทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ ขณะนั้นเวลาใกล้จะ 6โมงเย็น ทางแผ่นดินใหญ่ มีเมฆฝนหนาทึบ ดำทะมึน ฟ้าแลบแปลบปลาบอยู่ในก้อนเมฆ
ไม่กี่นาทีต่อมา กัปตันไก่ ก็นำเรือมาถึงหน้าอ่าวเล็กๆ ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ ที่อยู่ระหว่างหน้าผาหิน มีหาดที่ยาวไม่น่าจะเกิน 200 เมตร บนฝั่งมองเห็นมีกำแพงสูงใหญ่อยู่ระหว่างโขดหิน ด้านหลังกำแพงลึกเข้าไป คงจะเป็น รีสอร์ทหรือโรงแรม ผมมองเห็นไม่ถนัดเพราะมีต้นไม้ใหญ่ๆบังอยู่
กัปตันไก่ สั่งให้ทิ้งสมอ เพื่อค้างคืนที่นี่
เมื่อทิ้งสมอเรียบร้อย คุณบันเทิงกับบังใจ ลงมือตกปลาอีกครั้ง มั่นใจว่า ในอ่าวนี้ ต้องมีปลาใหญ่แน่ ๆ แต่ที่ไม่มั่นใจแน่ๆ ก็คือไม่รู้ว่าเขาห้ามตกปลาหรือเปล่า
สักพักหลังจากนั้น ยุทธ หายลงไปในห้องครัว เพื่อเตรียม อาหารมื้อค่ำของวันนี้
ผมกับบังหมานคอยลุ้นสองคนที่กำลังตกปลา ที่มีค่อนข้างจะชุกชุม ทั้งสองคนสาวสายเบ็ดขึ้นมาถี่ๆ พร้อมกับปลาเก๋า,ปลานกแก้วและปลาข้างไฝ ติดเป็ดขึ้นมาทุกครั้ง
ขณะที่คนอื่นๆ กำลังเพลินกับการตกปลา ผมสังเกตุเห็น กัปตันไก่ ยืนเล็งไปที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่ อย่างพินิจพิจารณา ผมมองตามไปบ้าง เห็นก้อนเมฆดำทะมึนพร้อมกับสายฟ้าแลบแปลบปลาบ และกำลังเคลื่อนตัวมายังทิศทางที่เราอยู่อย่างรวดเร็ว ลมที่พัดมาจากทางทิศนั้น ทำให้รู้สึกเย็นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
ด้วยกำลังของลมที่ แรงขึ้น แรงขึ้น คลื่นเริ่มหยาบขึ้น สูงขึ้น และแล้วสมอเรือก็เริ่มกาว เรือค่อยๆ ขยับเข้าหาหน้าผา ทีละนิด ทีละนิด ทุกครั้งที่คลื่นกระแทกเข้ามา
***รอติดตามตอนต่อไป***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น